กนกวรรณเริ่มเป็นที่จับตามองหลังเข้าร่วมโครงการ ‘EARLY YEARS PROJECT #7: A change in the paradigm’ เมื่อปี 2567 ซึ่งเธอสร้างงาน ‘หินในข้าว’ แผนภาพบนกระสอบข้าวขนาดใหญ่ ที่ไล่เรียงเส้นทางของข้าว และหินที่ปะปนอยู่ในนั้น โดยได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์เคี้ยวข้าวและเจอก้อนหินในนั้นของเธอ ซึ่งทำให้เราได้ทบทวนกระบวนการผลิตอาหารทั้งหมด ไปสู่ปัญหาระดับใหญ่ ๆ ในระบบการเกษตร จากแค่สิ่งเล็ก ๆ
ในงาน ‘Worm Brick’ เธอทำเซรามิกรูปอิฐตัวหนอน วัสดุก่อสร้างพื้นฐานที่พบได้ตามทางเดินทั่วไป แต่กลายมาเป็นที่ทับกระดาษ ที่ออกแบบมาให้ปักดอกไม้ดอกหญ้าหรือวัชพืชทั่วไปข้างทางไปด้วยได้ เป็นเหมือนคำชวนให้มาลองชื่นชมสิ่งเล็ก ๆ ที่อาจไม่ถูกมองเห็นเท่าดอกไม้ยอดนิยม และล่าสุดกับผลงาน ‘Touch-me-not’ เธอชวนให้เรามอง ‘ไมยราบ’ วัชพืชที่จะหุบใบลงเมื่อถูกเราสัมผัสตัว
ในบทสัมภาษณ์นี้ เธอเล่าถึงที่มาความสนใจในสิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้ วิธีการสำรวจโลกรอบตัวของเธอ และสิ่งที่เธอพบจากการก้าวเข้าไปในโลกเล็ก ๆ เหล่านั้น


เริ่มต้นจาก “ความรู้สึก”
ศิลปะหรือศิลปินโดยทั่วไป มักจะถ่ายทอดธรรมชาติรอบข้างในรูปแบบภาพวิวภูมิทัศน์กว้างไกลสุดตา เหมือนเวลาเราสำรวจโลกแล้วมองเห็นไปได้ทั่วทุกทิศทาง หรือเราเองเวลาเดินบนท้องถนนก็คงเงยหน้าเห็นแต่ป้ายบนตึก มากกว่าก้มมองต้นหญ้าที่ปลายเท้า แล้วอะไรทำให้ศิลปินคนนี้เริ่มต้นมองและเข้าไปสำรวจโลกจากสายตาของสิ่งเล็ก ๆ เหล่านั้นผ่านงานศิลปะ คำตอบของเธอเรียบง่าย แต่กลับดูมีความหมายมากมายต่อการใช้ชีวิตบนโลกนี้
“มันเริ่มจากแค่มองเห็นอะไรแล้วรู้สึกว่ามันน่ารักดี พวกสิ่งที่คนมองผ่านไป แล้วพอมองมันก็เห็นความเฉพาะตัวของแต่ละอย่างเอง ว่ามันมีเรื่องราวของมัน ที่อาจจะดูธรรมดาจนมันไม่จำเป็นต่อชีวิตเราว่าจะรู้ไปทำไม อย่างเช่นวัชพืช เราจะคุ้นหน้ามันตลอดเพราะเห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ไม่รู้เลยว่ามันชื่ออะไร มีหน้าที่อะไร หรือตัวตนมันเป็นอย่างไร แต่แค่เราเริ่มสนใจมันจากรูปลักษณ์ที่เห็นบ่อย ๆ แล้วค่อย ๆ เข้าไปสังเกต เริ่มทำความรู้จักโลกของมัน มันก็สนุกดีเหมือนกัน” เธอบอก
“มันเริ่มจากตอนเข้าโครงการ Early Years Project เราเริ่มกลับมาทำงานศิลปะ หลังจากที่เรียนจบมาแล้วก็ทำงานกราฟิกดีไซน์ แล้วก็รู้สึกโหยหาการทำงานกับตัวเองแบบนี้ ซึ่งเรื่องหินที่อยู่ในข้าวมันเกิดมาจากประสบการณ์ของเรา ที่นั่งกินข้าวอยู่ แล้วก็สงสัยว่าหลัง ๆ มานี้เราเคี้ยวไม่เจอหินแล้ว มันหายไป ทั้ง ๆ ที่ตอนเด็ก ๆ เจอบ่อยมาก เป็นความรู้สึกในปาก”
“เราก็เลยไปหาต่อ ว่าตอนเด็ก ๆ เรากินข้าวที่บ้าน แต่พอโตมาก็ซื้อข้าวกินเอง มันก็อาจจะมีการคัดกรองคุณภาพบางอย่างมาแล้ว ก็เลยสงสัยว่าสิ่งที่เคี้ยวเจอตอนเด็กมันมาได้อย่างไร ทั้งหมดมันเริ่มต้นจากความรู้สึก”
“พอไปหาก็เข้าใจ ว่ากระบวนการที่ทำให้หินเข้ามาในข้าวได้มันเกิดจากการตากข้าว เพราะชาวนาไม่ได้มีเครื่องอบข้าว ก็เลยต้องตากริมทาง พอรถขับผ่านก็เลยมีเศษหินดินเข้ามาได้ หรืออย่างโรงสีเล็ก ๆ ตามหมู่บ้าน บางทีก็ไม่ได้มีเครื่องมือที่ดี ก็อาจจะมีเศษหินจากหินขัดขาวหลุดออกมาด้วยได้”

Photo by Bangkok Art and Culture Centre (BACC)

Photo by Bangkok Art and Culture Centre (BACC)

Photo by Bangkok Art and Culture Centre (BACC)
สืบเข้าไปในสัมผัส
ผลงานของเธอคือส่วนผสมของประสบการณ์ที่สัมผัสสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวเหล่านี้ ไม่ว่าจะสัมผัสผ่านการเคี้ยวหรือการมองรูปทรง ซึ่งอีกแง่หนึ่ง มันคือการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือศึกษาสิ่งรอบตัว โดยที่มีแนวความคิดประกอบเข้ามาด้วย เธอเล่าว่า “เริ่มต้นเลยมันก็คือการหาข้อมูลก่อน มันชื่ออะไร ชื่อมาจากไหน แล้วค่อยสำรวจตัวมันจริง ๆ ในทางกายภาพ พยายามมองมันในทุกมิติเท่าที่จะทำได้ มันคือการสังเกตแหละ”
“เราสนุกกับกระบวนการมาก กับการสืบไปเรื่อย ๆ แต่มันไม่ใช่การทำความรู้จักกันแบบเลื่อนลอยหรือด้วยความบันเทิงเท่านั้น มันคือการเรียนรู้เรื่องราวเล็ก ๆ เรียนรู้ว่าทุกสิ่งมันมีเรื่องราวของมัน ซึ่งส่งผลกระทบกลับมาที่เราในทางใดทางหนึ่งด้วยอยู่ดี”
แน่นอนว่าพอมีการศึกษาลงลึก สิ่งที่เธอค้นพบก็ทำให้เห็นผลกระทบ ที่ดูเป็นเรื่องใหญ่ และใกล้ตัวมากกว่าที่คิด “วัชพืชที่อาจจะดูต้นเล็ก ๆ แต่ที่จริงก็กระจายพันธุ์มาจากที่อื่น และกระจายพันธุ์ต่อไปอีกเรื่อย ๆ จนก่อให้เกิดปัญหาได้ จากปรากฏการณ์สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงแล้วพืชก็เปลี่ยนการกระจายพันธุ์ไป การศึกษาสิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้มันไม่ใช่แค่การไปทำความรู้จักมันอย่างเดียว แต่ทำให้รู้ด้วยว่ามันเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร และทำให้เห็นว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของวงจรธรรมชาตินี้เหมือนกัน ทุกอย่างมันกระทบกันไปมา”
“งานศิลปะมันทำให้เล่าเรื่องอีกมุมหนึ่งที่เป็นทางเลือกมากขึ้นได้ จากคอนเซ็ปต์ตั้งต้นที่นำมาสู่กระบวนการทำงาน มันคือกระบวนการหาข้อมูล หาคำตอบ เกี่ยวกับประเด็นที่เราสนใจ”


ปรับเพื่อทำความรู้จัก
นอกจากความสวยงามที่เธอมองเห็นจากสิ่งเล็ก ๆ ซึ่งถูกมองข้ามเหล่านี้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการทำความรู้จัก ‘มุมมอง’ ของสิ่งอื่น นอกเหนือไปจากที่เรารู้จักด้วย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตที่ได้รับผลกระทบมากมายจากระบบโครงสร้างของมนุษย์ หรือชีวิตเล็ก ๆ ที่พยายามส่งเสียงตอบสนอง เมื่อถูกสัมผัส
“ในงาน ‘หินในข้าว’ เราสร้างกระสอบข้าวขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อจะทำให้คนดูรู้สึกเล็กลงเหมือนกับอยู่ในนั้น แล้วค่อย ๆ ดูเรื่องราวที่มันเกิดขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราไปเจอมันเยอะมาก และใหญ่มาก เกินกว่าที่เราจะไปควบคุมอะไรได้ เรารู้สึกว่าก็คงต้องกินข้าวที่มีหินต่อไป จะไปเปลี่ยนโรงสีก็คงยาก ปัญหามันเป็นเรื่องราวใหญ่โต”
“แต่กับงาน ‘Touch-me-not’ เราอยากเปลี่ยนมุมมองให้เป็นการไปสังเกตสิ่งเล็ก ๆ เราก็ยังเป็นเราคนเดิมอยู่ ขนาดเท่าเดิม มามองพืช แต่อาจจะเห็นมุมมองจากพืชมากขึ้น เพราะไมยราบเป็นพืชที่มีปฏิสัมพันธ์ได้ มีปากมีเสียง แสดงความรู้สึกได้ เคยเห็นที่เขาเอามาปลูกแบบบอนไซแล้วก็ตั้งแบบสวยงามใบบ้าน ซึ่งที่ญี่ปุ่นก็มีการตั้งไมยราบไว้สังเกตเป็นสัญญาณของแผ่นดินไหวด้วย เป็นเหมือนสัญญาณของธรรมชาติเล็ก ๆ ที่เราอาจไม่ทันสังเกต เหมือนเวลาเราจับแล้วมันหุบ มันอาจจะมีสัมผัสบางอย่างที่เราไม่มีทางรู้เลย หรืออีกแง่หนึ่งต้นไม้ใหญ่ ๆ ที่เราไปตัดมัน มันก็อาจจะรู้สึกอะไรอยู่แต่ไม่สามารถส่งเสียงได้ ถ้าเราไม่ไปสังเกต”
“เวลาเราเดินแล้วทำให้ลมพัดไปโดนไมยราบแค่นั้นมันก็หุบแล้ว แต่เราไม่ทันรู้ เพราะเรายังอยู่ในเวลาของเรา ในวัฏจักรของมนุษย์ สิ่งรอบตัวมันเร็วมาก เราก็เร็ว รถก็เร็ว สังคม ทุกอย่างมันเร็วไปหมดที่เรารับรู้ แต่สำหรับพืชมันก็มีเวลาชนิดหนึ่งของมัน ที่เราไม่ได้เห็นและไม่ได้เชื่อมโยงกันด้วย เราก็ทำงานที่เป็นภาพสามมิติแบบ Lenticular ซึ่งคนดูต้องเคลื่อนไหวตำแหน่งการมองของตัวเอง แล้วถึงจะเห็นการเคลื่อนไหวของเขา — ถ้าอยากเห็นเขาขยับ เราก็ต้องขยับเหมือนกัน เหมือนกับคนที่ต้องปรับตัวตนบางอย่างเพื่อจะเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติบ้าง และมีอีกชิ้นที่เป็นหนังสือกรีด (flip book) มาลองจับเล่นดูได้ ซึ่งมันทำให้เราสามารถควบคุมความเร็วในการสังเกตได้”.




