ชายในชุดชมพูที่เป็นที่คุ้นตาของคอศิลปะภาพถ่ายกลับมาแล้ว แต่คราวนี้ใส่ชุดนักบินอวกาศแทนชุดสูท คาแรกเตอร์ “พิงค์แมน” คนนี้ถือกำเนิดขึ้นในชุดภาพถ่ายของมานิต ศรีวานิชภูมิตั้งแต่ช่วง 1997 ตั้งคำถามกับสังคมบริโภคนิยมและวิกฤติเศรษฐกิจที่เปลี่ยนความคิดและชีวิตของผู้คนทั้งยุคนั้น ผ่านชุดสีชมพูสดและรถเข็นซื้อของสีเดียวกัน ซึ่งผ่านมาสมัยนี้ สิ่งที่อยู่ในบทสนทนาของผู้คนคงเป็นเรื่อง AI, สภาพภูมิอากาศ และเรื่องการท่องอวกาศ เขาจึงกลับมา กับการผจญภัยครั้งใหม่ ในนิทรรศการ ‘ดาวอังคารสีชมพู’ หรือ ‘Pink MARS’
มานิต ศรีวานิชภูมิ เป็นศิลปินชาวไทยผู้บุกเบิกภาพถ่ายร่วมสมัยในไทยมากว่า 30 ปี แต่คราวนี้ เขามากับ “ภาพถ่ายและวิดีโอประดิษฐ์ ที่ผลิตภาพออกมาจากถ้อยคำ (Prompt) ผนวกกับข้อมูลขนาดมหึมา (Big Data) จากระบบปัญญาประดิษฐ์” เพื่อส่งพิงค์แมนไป “แพร่พันธุ์” บนดาวอังคาร ดาวเคราะห์ที่เคยเป็นสีแดง แต่กำลังกำลังกลายเป็นสีชมพูช็อคกิ้งพิงค์
“เรารู้สึกว่าอารมณ์ขันเราหายไป ผมก็บอกตัวเองว่างานของเราที่ผ่านมามันมีอารมณ์ขันมีความเสียดสี แต่พอมันหายไปก็เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้จริง ๆ” เขาตอบเมื่อเราถามถึงอารมณ์ขันที่พบได้เสมอในงานภาพถ่ายชุดเก่า ๆ ของเขา ซึ่งเหมือนกับว่าตอนนั้นมันจะหายไป(?) “ตอนนั้นมันเป็นการเย้ยหยันแดกดันมากกว่า เราขำกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา เราอยู่กับมันด้วยอารมณ์ขัน เพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ท่ามกลางแรงกดดันหรือสถานการณ์ที่มันไม่เป็นคุณกับเรา”
Pink MARS เป็นภาคต่อหลังความตายของพิงค์แมน ซึ่งได้กลายเป็นข้อมูลดิจิทัลเข้าระบบ AI ซึ่งคงยังเต็มไปด้วยมุมมอง คำถาม หรือคำวิจารณ์ที่เข้มข้น ต่อความ “บ้าบริโภค” ของสังคม, การถลุงทรัพยากรของมนุษย์, หรือความโหดร้ายรูปแบบต่าง ๆ ของมนุษย์ ในยุคที่เทคโนโลยีอาจทำให้ทั้งหมดนี้เดือดดาลยิ่งขึ้นอีก
นิทรรศการภาพถ่ายและวิดีโอประดิษฐ์ ‘Pink Mars’ (ดาวอังคารสีชมพู)
👤 ศิลปิน มานิต ศรีวานิชภูมิ, ภัณฑารักษ์ อัครา นักทำนา
📍ที่ Kathmandu Photo Gallery
🗓️ จัดแสดงตั้งแต่ 3 พฤษภาคม – 28 มิถุนายน 2568
(เปิดนิทรรศการ เสาร์ที่ 3 พฤษภาคม เวลา 18.30 – 21.00 น.)