หนัง ‘โป๊ป’ ย้อนสำรวจจิตวิญญาณและบทบาทของโป๊ปบนแผ่นฟิล์ม

Post on 30 April

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพยนตร์ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งสื่อศิลปะร่วมสมัย ที่ได้เปิดพื้นที่แห่งการตั้งคำถาม ถกเถียง และค้นหาความหมายของชีวิตและจิตวิญญาณ ไม่เว้นแม้แต่ความเชื่อและศาสนา เช่นเดียวกันกับบุคคลสูงสุดในคริสตจักรโรมันคาทอลิกอย่าง ‘พระสันตะปาปา’ ที่มักถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดเรื่องราวเบื้องหลังที่เรามักไม่เคยได้เห็น

ย้อนกลับไปในช่วงประมาณคริสต์ศักราชที่ 30 ชื่อของ ‘นักบุญซีโมนเปโตร’ ได้กลายมาเป็นที่รู้จักของคริสต์ศาสนิกชนมากขึ้น หลังจากที่ได้รับแต่งตั้งให้กลายเป็นอัครทูตคนแรกของพระเยซู และกลายมาเป็นพระสันตะปะปาผู้นำพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลกองค์แรก และถูกยกย่องให้กลายเป็นบุคคลที่เปี่ยมไปด้วยศักดิ์สิทธิ์ในสายตาของผู้ศรัทธานับตั้งแต่นั้นมา

แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อปรากฏตัวบนจอภาพยนตร์ โป๊ปมักจะถูกนำเสนอในมุมมองที่หลากหลายมากกว่าการเชิดชู ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความศรัทธา เสียงสะท้อนของอำนาจ หรือแม้แต่มนุษย์ธรรมดาผู้กำลังเผชิญกับความสงสัยในหัวใจ

และเนื่องด้วยการถึงแก่อสัญกรรมของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในช่วงเวลาที่ผ่านมา GroundControl จึงขอพาทุกคนไปย้อนสำรวจภาพของพระสันตะปาปาบนแผ่นฟิล์ม ผ่านสายตาของผู้กำกับและคริสตจักร ที่ร่วมกันสร้างบทสนทนาอันลึกซึ้งระหว่างศาสนากับศิลปะ ให้เราได้พูดถึงทั้งประวัติศาสตร์ บทบาททางศาสนา และมุมมองทางวัฒนธรรมที่พระสันตะปาปาที่ถูกถ่ายผ่านสื่ออย่างภาพยนตร์

Conclave (2024)

Conclave เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายของ Robert Harris เป็นการพาเราไปสำรวจโลกเบื้องหลังประตูไม้หนาหนักของโบสถ์น้อยซิสทีน สถานที่ซึ่งพระคาร์ดินัลกว่า 100 รูปต้องร่วมกันฟังเสียงพระเจ้า เพื่อเลือกผู้นำทางจิตวิญญาณของโลกกว่า 1.3 พันล้านคน

แต่ Conclave ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการเมืองศาสนา ไม่ใช่แค่เรื่องของเสียงข้างมาก หรือเกมแห่งอำนาจแบบฆราวาส หากแต่เป็นภาพยนตร์ที่เปิดบทสนทนาอันซับซ้อนระหว่างมนุษย์และผู้ศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างองค์กรและจิตวิญญาณ ผ่านสายตาของ ‘คาร์ดินัลลอว์เรนซ์’ ผู้ซึ่งถูกผลักดันเข้าสู่ใจกลางของความลับ ความขัดแย้ง และศรัทธาที่กำลังสั่นไหว

จริง ๆ แล้วคำว่า ‘Conclave’ นั้นมาจากการประชุมลับของบรรดาพระคาร์ดินัล เพื่อเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ หลังจากองค์เดิมสิ้นพระชนม์หรือสละตำแหน่ง โดยมักจะจัดขึ้นที่โบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) ในกรุงวาติกัน และมีระเบียบพิธีกรรมที่เคร่งครัด ปิดตายจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง โดยอิงมาจากคำว่า ‘cum clave’ ในภาษาละตินที่แปลตรงตัวว่า ‘with a key’ หรือ ‘ปิดด้วยกุญแจ’ โดยใช้สื่อถึงลักษณะของการประชุมที่ปิดล้อม ไม่ให้บุคคลภายนอกมีอิทธิพลต่อผลการตัดสินใจใด ๆ

อย่างไรก็ตามแม้ Conclave จะมีการดัดแปลงบางส่วน รวมถึงเรื่องราวในหนังที่เป็นเรื่องสมมุติทั้งหมด แต่ถึงอย่างนั้นก็นยังได้รับการยกย่องว่าเป็นการนำเสนอที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ทั้งกระบวนการเลือกตั้งสมเด็จพระสันตะปาปา การจำลองห้องประชุมคอนเคลฟ์และพิธีกรรมต่าง ๆ หรือจากรากฐานจากความจริงทางประวัติศาสตร์หลายยุค เช่น สมัยพระสันตะปาปาโยฮันเนส ปอลที่ 2 หรือเบเนดิกต์ที่ 16 เองก็ตาม

The Two Popes (2019)

ในช่วงเวลาที่โลกศาสนาเผชิญความสั่นคลอน คำถามเกี่ยวกับความเชื่อ ศีลธรรม และทิศทางของคริสตจักรถูกส่งเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ ภาพยนตร์ The Two Popes จึงไม่เพียงนำเสนอเรื่องราวของผู้นำศาสนาสองคนเท่านั้น หากแต่ยังทำหน้าที่เป็นดั่งบทสนทนาที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ชมร่วมพิจารณา

The Two Popes บอกเล่าเรื่องราวของ ‘พระคาร์ดินัลเบร์โกโญ’ (ที่ต่อมาคือโป๊ปฟรานซิส) ได้เดินทางมายังนครวาติกันเพื่อขอลาออกจากตำแหน่ง แต่กลับถูกเชิญให้เข้าพบกับ ‘พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16’ ผู้ซึ่งกำลังต่อสู้กับความเงียบงันในจิตใจของตนเอง ทั้งสองเดินเข้าหากันอย่างเชื่องช้าและลังเล ทว่าด้วยบทสนทนาอันแยบยลและลึกซึ้ง พวกเขากลับพบกันที่จุดร่วมคือ ความเปราะบางของมนุษย์ และแรงศรัทธาที่อาจกำลังแปรเปลี่ยน

ซึ่งในโลกที่ศรัทธาไม่ใช่สิ่งคงที่นี้เอง ที่ The Two Popes ได้พาผู้ชมเข้าไปสำรวจอีกด้านของโป๊ปซึ่งไม่ได้ถูกวาดไว้ด้วยภาพของความศักดิ์สิทธิ์ล้วน ๆ แต่เต็มไปด้วยความสงสัย ความผิดพลาด ความอ่อนล้า และแม้แต่ความขำขันเล็กน้อย เป็นโป๊ปที่มีเลือดเนื้อ มีอดีต มีบาดแผล และมีการให้อภัยทั้งต่อตนเองและต่อกัน

เช่นเดียวกันกับโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ในเรื่องอาจเป็นภาพแทนของคริสตจักรที่ยึดมั่นในรูปแบบดั้งเดิม เขาเคร่งครัด สงบนิ่ง และบางครั้งก็เปราะบางต่อเสียงวิจารณ์ ในขณะที่เบร์โกโญ (ฟรานซิส) คือตัวแทนของกระแสการเปลี่ยนแปลง ศรัทธาที่ใกล้ชิดกับประชาชน ความกล้าหาญที่จะฟังก่อนจะสั่งสอน และกล้ารับว่าโลกไม่ใช่สถานที่ที่สมบูรณ์แบบ

The Agony and the Ecstasy (1965)

The Agony and the Ecstasy ถือเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่สะท้อนโลกของศิลปะและความศรัทธา ได้อย่างชัดเจนที่สุด ผ่านเรื่องราวของ ‘มิเกลันเจโล’ ศิลปินผู้ดื้อรั้น กับ ‘สมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2’ ผู้ทรงอำนาจ ที่กำลังร่วมกันสร้างผลงานอมตะอย่างภาพเขียนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน ‘Sistine Chapel ceiling’

The Agony and the Ecstasy ได้ถ่ายทอดเบื้องลึกเบื้องหลังของมิเกลันเจโล ที่สำหรับเขาแล้ว การวาดภาพไม่ใช่แค่การทำตามคำสั่งโป๊ป แต่ยังเป็นการสนทนาโดยตรงกับพระเจ้า และแน่นอนว่าเขาไม่พอใจจะวาดสิ่งที่ถูกคาดหวัง แต่เพียงต้องการสื่อความรู้สึกที่แท้จริงของมนุษย์ ทั้งบาป ความรัก ความกลัว และความหวัง ซึ่งบางครั้งก็สวนทางกับความศักดิ์สิทธิ์ในแบบที่คริสตจักรกำหนด

แต่ในอีกฟากหนึ่ง สมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ผู้เป็นผู้อุปถัมภ์และผู้สั่งการกลับไม่ได้มองศิลปะเพียงเป็นเครื่องประดับศาสนา แต่เป็นการแสดงพลังของคริสตจักร เขาต้องการภาพที่ยิ่งใหญ่ สะท้อนความรุ่งเรืองของสถาบันศาสนาในโลกแห่งความขัดแย้งมากกว่าการสื่อความรู้สึก

“ข้าพเจ้าไม่ได้วาดภาพเพราะพระองค์บังคับ ข้าพเจ้าวาด…เพราะข้าพเจ้าต้องการจะสื่อสารกับพระเจ้า”

บทสนทนาของระหว่างศิลปินกับคริสตจักร ที่เปรียบดั่งบทสนทนาระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า สะท้อนแก่นของเรื่องที่นำเสนอว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การสร้างผลงานศิลปะ แต่คือการค้นหาความหมายของพระเจ้าผ่านงานศิลปะมากกว่า มิเกลันเจโลเริ่มต้นด้วยความไม่ศรัทธา และต่อต้านการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จของโป๊ป แต่ระหว่างทางเขากลับพบว่าศิลปะสามารถนำเขาไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าที่เขาเข้าใจ

The Agony and the Ecstasy จึงถือเป็นบทสนทนาอันคมคายระหว่างศิลปะกับอำนาจ ระหว่างศรัทธาส่วนบุคคลกับศาสนจักร และระหว่างมนุษย์ผู้กระหายความจริง กับพระเจ้าที่บางครั้งก็ทรงเงียบงัน อีกทั้งยังสะท้อนสภาวะของการสร้าง ความเจ็บปวดทางกายจากการวาดเพดานนานนับปี ความขัดแย้งทางใจที่เกิดจากความไม่ลงรอยกับโป๊ป และในขณะเดียวกันก็มีความปีติจากการได้ถ่ายทอดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยภาษาของตนเอง

The Shoes of the Fisherman (1968)

The Shoes of the Fisherman เล่าเรื่องของ ‘คิริล ลัคอตา’ พระคาร์ดินัลชาวยูเครนผู้ถูกกักขังนานนับสิบปี ได้รับการปล่อยตัวโดยรัฐบาลโซเวียต ด้วยแรงกดดันทางการเมือง และเดินทางสู่กรุงโรม เพื่อเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาที่กำลังเจ็บป่วย ไม่นานนัก การประชุม Conclave เริ่มต้นขึ้นเพื่อเลือกโป๊ปองค์ใหม่ และด้วยแรงผลักดันจากความหวังของคณะคาร์ดินัล คิริล ผู้ไม่เคยคิดว่าตนเองจะได้รับเลือก กลับได้รับมอบภาระอันหนักอึ้งในนามของ ‘สมเด็จพระสันตะปาปาคิริลที่ 1’

อย่างไรก็ตาม โป๊ปใน The Shoes of the Fisherman กลับถูกนำเสนอต่างจากโป๊ปในเรื่องอื่น ๆ ที่เราอาจคุ้นเคยในแง่ผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นดั่งการเปิดบทสนทนาใหม่ระหว่างคริสตจักรกับโลกยุคใหม่ ว่าบทบาทของพระศาสนจักรคืออะไร เมื่อมนุษยชาติเดินมาถึงจุดเสี่ยงแห่งการล่มสลาย

อีกทั้งยังมีการตั้งคำถามถึงโป๊ปในฐานะของนักบุญในอุดมคติ ถึงความเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความกลัว ความสงสัย และความเหนื่อยล้า การตั้งคำถามกับพระเจ้า ความท้อแท้ และความไม่มั่นใจว่าการกระทำของตนจะเปลี่ยนแปลงโลกได้จริงหรือไม่ และนั่นทำให้โป๊ปคิริลแตกต่างจากภาพโป๊ปที่เคยเป็นมา

Becket (1964)

Becket เป็นเรื่องจริงของ ‘โทมัส เบ็คเก็ต’ เสนาบดีคนสนิทของ ‘พระเจ้าเฮนรีที่ 2’ ที่เป็นดั่งพี่น้องและเพื่อนตายที่ไม่มีอะไรพรากได้ จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าเฮนรีแต่งตั้ง โทมัส เบ็คเก็ต เป็นอัครสังฆราชแห่งแคนเทอร์เบอรี ด้วยความหวังว่าเขาจะเป็นหุ่นเชิดของพระราชาในคริสตจักร แต่สิ่งที่พระเจ้าเฮนรีไม่คาดคิด คือ Becket เปลี่ยนไป จากนักการเมืองมาเป็นนักบวชตัวจริง เขาเลือกภักดีต่อพระเจ้า มากกว่ากษัตริย์และเขาต่อต้านคำสั่งที่ขัดกับหลักศรัทธา

Becket เลือกนำเสนอการตั้งคำถามอย่างเจ็บแสบต่อระบบอำนาจทั้งสองด้าน เมื่อมิตรภาพระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับบาทหลวง กลับกลายเป็นศึกแห่งศรัทธาและศักดิ์ศรีที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม

อีกทั้งยังนำเสนอการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของ Becket อย่างลึกซึ้ง จากชายที่เคยใช้ชีวิตหรูหรา สุขสบาย และเกรงใจอำนาจ กลายเป็นนักบวชที่ทิ้งทุกสิ่ง แม้กระทั่งชีวิตของตนเอง เพื่อยืนหยัดต่อหลักการ นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน แต่เป็นการตื่นรู้ช้า ๆ ว่า ความจงรักภักดีแท้จริง คือการตอบสนองต่อสิ่งที่สูงกว่าตนเอง แม้ว่ามันจะทำลายทุกอย่างที่เคยมี

สุดท้ายแล้วโทมัส เบ็คเก็ตถูกลอบสังหารโดยผู้ติดตามกษัตริย์ในอาสนวิหารแคนเทอร์เบอรี ซึ่งถึงแม้ในตอนแรกเขาจะไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นโป๊ป แต่ไม่นานหลังจากที่เขาเสียชีวิต เขาก็ได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ โดยสมเด็จพระสันตปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3 โดยต่อมาเขาได้รับการยกย่องเป็นนักบุญและมรณสักขีโดยคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิกและแองกลิกันคอมมูนเนียน

Angels & Demons (2009)

Angels & Demons เป็นภาพยนตร์ที่พาเรากลับเข้าสู่สมรภูมิแห่งความเชื่ออีกครั้ง หลังจากที่ในโลกที่ความรู้กำลังขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต และศาสนาเก่าแก่ดูเหมือนจะถูกตั้งคำถามอยู่ทุกวัน โดยมีศัตรูตัวฉกาจอย่างวิทยาศาสตร์ปรากฏขึ้นมา

Angels & Demons ดัดแปลงมาจากนิยายของ ‘Dan Brown’ โดยเล่าเรื่องหลังการถึงแก่อสัญกรรมของพระสันตะปาปา และโลกกำลังจับตามองการประชุม Conclave เพื่อเลือกโป๊ปองค์ใหม่ที่วาติกัน แต่ท่ามกลางพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ กลับเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญขึ้น เมื่อ ‘อิลลูมินาติ’ กลุ่มสมาคมลับในตำนานที่เคยเป็นศัตรูกับคริสตจักร อ้างว่ากำลังกลับมาล้างแค้นโดยขู่จะทำลายวาติกันด้วย ‘ปฏิสสาร’ อาวุธที่สร้างขึ้นจากวิทยาศาสตร์ล้ำยุค

ตลอดทั้งเรื่อง Angels & Demons เล่นกับไอเดียที่ว่าวิทยาศาสตร์และศาสนาไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกันเสมอไป วาติกันในเรื่องไม่ได้ต่อต้านวิทยาศาสตร์อย่างตาบอด แต่กลับเป็นพื้นที่ที่ยังต่อรอง ลังเล และพยายามหาความสมดุลระหว่างการเชื่อและการเข้าใจ หลายตัวละคร เช่น คาร์ดินัลและนักวิทยาศาสตร์ที่ CERN ต่างมีทัศนะที่ซับซ้อนมากกว่าความขาวดำแบบง่าย ๆ โดยฝ่ายหนึ่งกลัวว่าวิทยาศาสตร์จะทำลายความศักดิ์สิทธิ์ และอีกฝ่ายกลัวว่าศาสนาจะหยุดยั้งความก้าวหน้า

นอกจากนั้นแล้ว ตัวละครอย่าง ‘Camerlengo McKenna’ ยังพยายามใช้ตำแหน่งพระสันตะปาปาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยสร้างเหตุการณ์ลวงให้ดูเหมือนว่าวาติกันถูกโจมตี เพื่อปลุกกระแสศรัทธาที่ปั่นป่วนด้วยความกลัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าศรัทธาที่แท้จริง ต้องเกิดจากความรัก ไม่ใช่ความหวาดกลัว ตำแหน่งโป๊ปจึงไม่ได้เป็นแค่อำนาจสูงสุดในทางโลก แต่มันเป็นหน้าที่สูงสุด ที่ต้องนำพาศรัทธาอย่างบริสุทธิ์ ไม่ใช่ใช้อำนาจเบื้องหลังมัน

The Young Pope (2016)

The Young Pope เล่าเรื่อง ‘Lenny Belardo’ นักบวชชาวอเมริกันผู้หักปากกาเซียน เพราะได้รับเลือกเป็นโป๊ปนามว่า Pius XIII แต่แทนที่เขาจะเป็นหุ่นเชิดเชื่อง่ายสำหรับคาร์ดินัลผู้อยู่เบื้องหลัง Pius XIII กลับเป็นบุคคลที่คาดเดาไม่ได้ที่สุด โดยเขาเลือกที่จะปิดกั้นตัวเองจากสื่อ ไม่เปิดเผยแม้กระทั่งใบหน้าให้ผู้ศรัทธาเห็นในระยะแรก ตั้งกฎใหม่ที่ย้อนแย้งกับแนวโน้มของความเปิดกว้างของคริสตจักรยุคใหม่และนำพาวาติกันเข้าสู่ช่วงเวลาที่ตึงเครียดและเปราะบางอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

The Young Pope จึงไม่ใช่แค่เรื่องราวของพระสันตะปาปาหนุ่มคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเลือกขึ้นครองตำแหน่งแต่คือการสำรวจ พลังของศรัทธา การเมืองในคริสตจักร และความเหงาลึกสุดใจที่มาพร้อมกับบทบาทสูงสุดทางจิตวิญญาณ

ใน The Young Pope บทบาทของโป๊ปไม่ได้เป็นแค่ผู้นำจิตวิญญาณของโลกคริสเตียนเท่านั้น
แต่เป็นเวทีที่ขับเน้นความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวละครหลัก เช่น การที่ Pius XIII นั้นเติบโตมาในสภาพแวดล้อมของการทอดทิ้ง ทำให้เขาโหยหาความรักและการยอมรับอย่างรุนแรง หรือการที่เขาเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของตำแหน่งโป๊ปถึงขีดสุด แต่ในขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามกับการมีอยู่ของพระเจ้าอย่างลึกซึ้ง

Pius XIII จึงเป็นดั่งภาพสะท้อนและภาพบิดเบี้ยวของความหวังทางศรัทธาในยุคปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็นว่าสถาบันเก่าแก่ขนาดไหน ก็ยังต้องเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานของความเปลี่ยนแปลง หรือจะเป็นการตั้งคำถามว่า เราต้องการศรัทธาที่ปลอบประโลมใจ? หรือศรัทธาที่สั่นสะเทือนจิตใจจนถึงรากกันแน่

Habemus Papam (2011)

ในขณะที่ภาพยนตร์อื่น ๆ มักวาดภาพพระสันตะปาปาในฐานะผู้ทรงอำนาจสูงสุดทางศรัทธา แต่ ‘Habemus Papam’ กลับกล้าเล่าเรื่องพระสันตะปาปาที่ ‘ไม่อยากเป็นโป๊ป’ โดยเลือกนำเสนออีกด้านหนึ่งที่เปราะบาง และลึกซึ้งของตำแหน่งนี้ ทั้งความกลัว ความสงสัย และความไม่แน่ใจในตัวเอง

Habemus Papam เล่าเรื่องราวหลังพระสันตะปาปาองค์ก่อนสิ้นพระชนม์ คณะคาร์ดินัลรวมตัวกันเพื่อประชุม Conclave เลือกผู้นำคนใหม่ ผลออกมาคือการเลือกพระคาร์ดินัล ‘Melville’ ขึ้นเป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่ แต่ในขณะที่พิธีประกาศชื่อ ‘Habemus Papam’ กำลังจะเริ่มขึ้น Melville ก็เกิดอาการตื่นตระหนก อย่างรุนแรง เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้ และหนีออกจากวาติกัน

แน่นอนว่าสำหรับเรื่อง Habemus Papam พระสันตะปาปานั้นไม่ใช่สัญลักษณ์ของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ แต่คือภาพของมนุษย์ธรรมดา ที่รู้สึกว่าตัวเอง ไม่คู่ควรกับภารกิจที่ใหญ่โตเกินไป พระคาร์ดินัล Melville นั้น ก็มีความสงสัยในตัวเองเหมือนกับมนุษย์ทุกคนเพราะเขาถูกทำให้รู้สึกว่าต้องแบกภารกิจของพระเจ้าไว้บนบ่า ถึงแม้ลึก ๆ แล้ว เขาไม่มั่นใจเลยว่าจะทำได้ การหนีออกมาสู่โลกภายนอก จึงเป็นดั่งการแสวงหาความหมายและอิสระอย่างเงียบ ๆ

Habemus Papam จึงเป็นดั่งการชี้ให้เห็นว่า การยอมรับความอ่อนแอของตัวเอง อาจเป็นการกระทำที่ซื่อสัตย์ที่สุดต่อพระเจ้า พระสันตะปาปาในหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่ผู้นำที่ประกาศนโยบายยิ่งใหญ่ แต่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่เผชิญหน้ากับความเปราะบางของตัวเองอย่างซื่อตรง

ในขณะที่โลกแห่งความศรัทธามักถูกผูกเข้ากับภาพลักษณ์ของความเข้มแข็งและชัยชนะ แต่ Habemus Papam กลับเสนอมุมมองที่อ่อนโยนแต่เจ็บปวด เพราะศรัทธาที่แท้จริง อาจเริ่มต้นจากการยอมรับว่าเราอ่อนแอกว่าที่ใคร ๆ คิด

อ้างอิง

Austerlitz S. Why The Young Pope Matters - JSTOR Daily. JSTOR Daily. Published October 18, 2017. Accessed April 25, 2025. https://daily.jstor.org/why-young-pope-matters/

BBC Bitesize. Who was Thomas Becket and why did he clash with the king? - Thomas Becket - KS3 History - homework help for year 7, 8 and 9. - BBC Bitesize. BBC Bitesize. Published July 2021. Accessed April 25, 2025. https://www.bbc.co.uk/bitesize/articles/zmc6m39#zdrx2v4

Greydanus SD. The Shoes of the Fisherman (1968) | Decent Films - SDG Reviews. Decent Films. Published 2025. Accessed April 24, 2025. https://decentfilms.com/reviews/shoesofthefisherman

Horton A. Experts talk realism of Conclave movie: “Gets a lot of the details right.” the Guardian. Published April 22, 2025. Accessed April 24, 2025. https://www.theguardian.com/film/2025/apr/22/conclave-movie-pope-francis?utm_source=chatgpt.com

The Vatican’s ticking time bomb: Where’s MapQuest when we need it? movie review (2009) | Roger Ebert. Roger Ebert. Published 2024. Accessed April 25, 2025. https://www.rogerebert.com/reviews/angels-and-demons-2009

Tunzelmann A von. The Agony and the Ecstasy: more passion would’ve been less painful. the Guardian. Published May 24, 2013. Accessed April 24, 2025. https://www.theguardian.com/film/filmblog/2013/may/24/agony-and-the-ecstasy-reel-history