เมื่อพูดถึงงานจิตรกรรมทิวทัศน์ยุคโรแมนติก แน่นอนว่าชื่อของ ‘โจเซฟ มัลลอร์ด วิลเลียม เทอร์เนอร์ (Joseph Mallord William Turner)’ ศิลปินผู้ทรงอิทธิพลชาวอังกฤษคงจะเป็นชื่อแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง ซึ่งแม้ว่าในช่วงแรกของการทำงานศิลปะ ผลงานของเทอร์เนอร์จะยังเน้นการถ่ายทอดภาพทิวทัศน์หรือเหตุการณ์สำคัญอย่างสมจริงที่สุด แต่เขาก็ค่อย ๆ ลดทอนรายละเอียดของผลงานจิตรกรรมสีน้ำและสีน้ำมันของเขาจนคลี่คลายเหลือเพียงแสงสีและมวลบรรยากาศของทิวทัศน์ที่พร่าเลือน
ไม่เพียงเทคนิคทางศิลปะเท่านั้นที่ทำให้ผลงานของเทอร์เนอร์เป็นที่ยกย่องเหนือกาลเวลา แต่เขายังมักจะถ่ายทอดความยิ่งใหญ่จนน่าพิศวงของธรรมชาติ (Sublime) ผ่านภาพทิวทัศน์ของภูเขาและผืนน้ำ ซึ่งหนึ่งในสถานที่ที่มักจะปรากฏตัวในผลงานของเขาบ่อยที่สุดคงหนีไม่พ้นเทือกเขาแอลป์ในแถบสวิตเซอร์แลนด์

The Rigi, Lake Lucerne, Sunset (1842)

The Lower Glacier, Grindelwald, with the Eiger (1802)

The Blue Rigi, Sunrise (1842)
ในช่วงปี 1802 ขณะเทอร์เนอร์มีอายุราว 27 ปีและยังเป็นเพียงศิลปินหนุ่มที่ยังไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังมากนัก เขาเริ่มออกเดินทางไปในทวีปยุโรปทั้งในฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งตลอดระยะเวลาในสวิตเซอร์แลนด์ เทอร์เนอร์ได้เดินทางผ่านหลายสถานที่ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับผลงานจิตรกรรมของเขาในเวลาถัดมา ตั้งแต่ Bern, Thun, Brienz, Grindelwald, Lucerne ไปจนถึง Devil’s Bridge และ Schöllenen Gorge ซึ่งในการเดินทางครั้งนั้นเองก็ทำให้เขาต้องมนตร์เสน่ห์ความสวยงามและความยิ่งใหญ่ของเทือกเขาแอลป์ที่ในขณะนั้นเป็นเพียงเทือกเขาหิมะที่รกร้างและไร้ประโยชน์ในสายตาชาวยุโรปทั่วไป ซึ่งความหลงใหลของเขาที่มีต่อเทือกเขาแอลป์นั้นก็สามารถเห็นได้จากภาพสเกตช์ในรูปแบบลายเส้นดินสอและสีน้ำที่เขาวาดเก็บไว้จำนวนมาก

The Devil’s Bridge and Schöllenen Gorge (1802)

The Schöllenen Gorge from the Devil’s Bridge, Pass of St Gotthard (1802)

The Lake of Lucerne from Brunnen (1842)

Brunnen, from the Lake of Lucerne: Sample Study (1843–5)
หลังเขาเดินทางกลับอังกฤษ เขาจึงนำภาพสเกตช์ภูเขาหิมะเหล่านี้ออกมาเป็นต้นแบบในการรังสรรค์ผลงานจิตรกรรมที่ทรงคุณค่าอีกมากมาย ซึ่งผลงานเหล่านี้ก็มีผลอย่างมากในการช่วยผลักดันให้เขาก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงโดดเด่นในวงการศิลปะของอังกฤษในขณะนั้น

Geneva, the Jura Mountains and Isle Rousseau, Sunset (1841)

Fluelen: Morning (Looking Towards the Lake of Lucerne): Sample Study (c.1844–5)

The Pass of St Gotthard, near Faido: Sample Study (c.1842–3)

The Red Rigi: Sample Study (c.1841–2)
ไม่เพียงการเดินทางในช่วงวัยรุ่นในครั้งนั้นเท่านั้น แต่ตั้งแต่ช่วงปี 1802-44 เทอร์เนอร์ได้มีการเดินทางเข้าออกสวิตเซอร์แลนด์ไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง และในแต่ละครั้งเขาก็ได้ภาพสเกตช์จำนวนมากติดไม้ติดมือกลับบ้านด้วยตลอด ซึ่งผลงานจิตรกรรมในสวิตเซอร์แลนด์เหล่านี้ก็ไม่ได้มีคุณค่าเพียงการเป็นผลงานคลาสสิคตลอดกาลของเทอร์เนอร์ แต่ยังมีส่วนช่วยผลักดันให้เทือกเขาแอลป์กลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดฮิตของชาวยุโรปที่ต้องการจะไปสัมผัสความสวยงามและยิ่งใหญ่ของเทือกเขาหิมะที่เงียบสงบนี้ด้วยตาตัวเอง

The St Gotthard Road between Amsteg and Wassen, Looking up the Reuss Valley (c. 1814-15)

A Ravine in the Pass of St Gotthard (1802)

The Dark Rigi: Sample Study (c.1841–2)
รับชมรายการ Self-Quarantour EP. Swiss Dream, Sweet Escape เต็ม ๆ ได้ที่:
อ้างอิง: Turner The Sea and the Alps, Turner and his Alpine paintings are back in Switzerland, Travelling with Turner: Exploring the Swiss Alps in 1802