วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา และ ชญานิน เตียงพิทยากร ซีเนไฟล์กับภารกิจฉายหนัง และความหวัง (?) ของโรงหนังอิสระไทย

Post on 22 April

ลองจินตนาการดูว่า ถ้าเมืองไทยมีหนังทดลองกว่า 300 เรื่อง — หนังที่ไม่ยึดติดกับโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบดั้งเดิม ไม่เดินตามเส้นตรงของการผจญภัยของตัวละครเอก แต่กลับเลือกเล่าแบบไม่แคร์เวลา ไม่มีพระเอกนางเอก แต่มีเพียงแสง สี เสียง วิ่งวูบวาบกระแทกตาคนดูแทน — แล้วหนังเหล่านี้จะไปอยู่ตรงไหนในวงการภาพยนตร์ไทย? พวกมันจะมีที่ยืนอย่างไร ถ้าการจะฉายหนังในโรงของสองค่ายใหญ่แทบเป็นไปไม่ได้?

จริง ๆ แล้ว หนังแบบนี้มีอยู่แล้ว และมีเยอะด้วย — แค่ในปีที่ผ่านมา หนังทดลองกว่า 300 เรื่องได้ถูกส่งเข้าคัดเลือกในโปรแกรม Open Call ของเทศกาลภาพยนตร์ทดลองกรุงเทพฯ ครั้งที่ 7 (BEFF7) โดยมีวิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา และ ชญานิน เตียงพิทยากร คัดสรรหนังบางส่วนมาร้อยเรียงใหม่ เพื่อให้มันได้ “สนทนา” กัน ไม่ว่าจะเป็นการปะทะกัน ถกเถียง หรือส่งเสริมแนวคิดบางอย่างร่วมกัน

ทั้งสองคือนักดูหนังตัวยง หรือจะเรียกว่า “ลุ่มหลงหนัง” ก็ไม่ผิด พวกเขาเป็นผู้ฉายหนังในนาม Wildtype ซึ่งย้อนจุดเริ่มต้นไปได้จากกลุ่มฉายหนังฟิล์มไวรัส (FILMVIRUS) ตั้งแต่หลายปีก่อน ผู้เป็นที่จดจำจากการจัดฉายหนังที่กล้า ท้าทาย และอยู่กึ่งกลางระหว่างขนบเดิม ๆ ของการจัดฉายหนัง ไม่ว่าจะเป็นหนัง “เฮี้ยน” แปลกประหลาด หรือหนังที่ล้ำเส้นศีลธรรมไปแล้วก็มี

“เป้าหมายของ Wildtype คือการสำรวจความเป็นไปได้ของภาพยนตร์ — ว่าหนังมันเป็นอย่างอื่นได้อีก ไม่ใช่แค่ในแกลเลอรี่ โรงหนัง หรือเทศกาล มันอาจจะเป็นความบ้าบอก็ได้ เป็นความสมัครเล่น หรือแม้แต่ความกึ่งกลางระหว่างทุกอย่าง” วิวัฒน์อธิบาย

หนังทดลองกว่า 300 เรื่องนั้น รวมถึงหนัง “แหกขนบ” ที่ Wildtype คัดสรรมาตลอดหลายปี เป็นหลักฐานชัดว่าเมืองไทยมีคนทำหนังที่มีพลังสร้างสรรค์เต็มเปี่ยม ในช่วงที่ผ่านมา โปรแกรมหนังจาก Wildtype ได้ออกเดินทางฉายตามโรงหนังขนาดเล็กทั่วประเทศ จนมาถึงจุดที่สถานการณ์ของวงการหนังนอกกระแสเริ่มสั่นคลอน — โดยเฉพาะเมื่อ Doc Club & Pub ซึ่งเป็นเหมือนฐานหลักของหนังแนวนี้ ต้องปิดตัวลงจากข้อจำกัดทางกฎหมาย ส่งผลให้โรงหนังเล็กอีกหลายแห่งต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน (ขณะนี้มีความพยายามจัดการเรื่องกฎหมายเพื่อรองรับโรงหนังเล็กอยู่)

เมื่อวันที่ 19–20 เมษายน 2568 นี้ พวกเขาสร้างปรากฏการณ์อีกครั้งกับ WILDTYPE MASTERCLASS 06 : CINEMINE/D โปรแกรมหนังพร้อมวงเสวนาเชิงลึกถึงเบื้องหลังความคิดและวิธีทำงานของผู้กำกับอิสระ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย (ผู้กำกับ School Town King และสมาชิก Eyedropper Fill) ซึ่งจัดคู่ขนานแบบพร้อมกันหกจุดทั่วไทย ทั้งกรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา สงขลา

GroundControl จึงชวนพวกเขามาพูดคุยถึงการคัดเลือกและจัดโปรแกรมหนังแบบซิเนไฟล์ ซึ่งแตกต่างจากวิธีของสถาบันทั่วไป เปิดประเด็นถึงความหมายของ “หนังบ้า ๆ บอ ๆ” ที่หลุดพ้นจากขอบเขตเดิม ๆ และชวนตั้งคำถามว่า “ความอิสระ” ของภาพยนตร์ไทยจะยังคงเป็นอิสระอยู่ได้จริงหรือไม่ — ในยุคที่แม้แต่เสรีภาพยังต้องรอการรับรองจากกฎหมาย

GroundControl:

จาก Wildtype ถึง BEFF — เข้ามาร่วมทำงานนี้กันได้อย่างไร กระบวนการทำงานแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

วิวัฒน์:

เราเคยร่วมงานกับ BEFF6 ซึ่งมีคิวเรเตอร์หลักคือพี่เม อาดาดล อิงคะวณิช เราไปที่ Vietnam Film Institute ไป Hanoi Doclab แล้วก็แลกหนังกันฉาย พอถึง BEFF7 ก็มี แมรี่ ปานสง่า เป็นคิวเรเตอร์ และให้เรามาร่วมคิวเรตโปรแกรม Open Call ซึ่งเรายินดีมาก เพราะทำให้เราได้ดูของใหม่ แล้วหนังมีส่งเข้ามาประมาณ 300 เรื่อง แต่มีเวลาแค่เดือนเดียว ก็เลยชวนตี้เข้ามาช่วยกันดู เพราะต้องให้แน่ในว่าทุกเรื่องมีคนดูจริง ๆ

ชญานิน:

โดยกระบวนการแล้วอย่างน้อยทุกเรื่องที่ส่งเข้ามาต้องมีคนได้ดู แล้วเราก็มาแชร์กันว่าใครดูอะไรไป แล้วค่อยขยำออกมาเป็นโปรแกรมอีกที มันอาจจะไม่ได้ถึงกับมีธงหรือหลักอะไรที่เป็นวิชาการ สำหรับเทศกาลทดลองแบบนี้ เราก็พยายามจะนำเสนอว่าสิ่งที่เราได้รับมามันแสดงให้เห็นถึงความสนใจของคนแบบไหนบ้าง ตอนนี้คนมีน้ำเสียงแบบไหนกันแล้ว คนพยายามมีวิธีการทางศิลปะยังไง บวกกับส่วนที่เราคิดว่าอยากผลักดันให้ได้รับการนำเสนอด้วย

สุดท้ายแล้ว เราพยายามจะเลือกเอาหนังที่คิดว่าอยู่ยากในระบบปกติ เพราะนี่คือเทศกาลทดลอง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าปิดประตูสำหรับหนังเล่าเรื่องเลยนะ เพียงแต่มันต้องมีอะไรที่สอดคล้องกับลักษณะการทดลองหน่อย

อย่างใน Wildtype เราก็นำเสนอทั้งหนังทดลอง หนังอินดี้ หนังเล่าเรื่อง หรือหนังบ้า ๆ บอ ๆ ต่าง ๆ ที่มันก็อาจจะเรียกว่าทดลองก็ได้ ถึงมันจะไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความตั้งมั่นจะทำการทดลองขนาดนั้น เราก็พยายามจะแฉกออกไปหลาย ๆ พื้นที่เท่าที่มันจะครอบคลุมได้ แต่จุดกำเนิดของ Wildtype มันคือหนังทดลองกับหนังบ้า ๆ บอ ๆ

วิวัฒน์:

เราใช้แนวคิดแบบ Wildtype ด้วยแหละ — ตอนแรกที่ทำเราหยิบหนังหลายเรื่องที่ไปเจอแล้วคิดว่า ถ้าไม่มีใครฉาย มันจะถูกลืมไปเลย เช่นเรื่องที่ไปเข้าเทศกาลอื่นยาก เราก็อยากผลักดันมัน สมัยก่อนเราทำเล็ก ๆ ไม่มีระบบอะไรมาก แต่พอถึง BEFF มันมาเรียบร้อยกว่านั้น

ถ้าย้อนไปที่จุดเริ่มต้น Wildtype มันเกิดขึ้นเพราะเรากับพี่จิตร โพธิ์แก้ว ไปดูเทศกาลหนังสั้นมาราธอน [การฉายภาพยนตร์สั้นทุกเรื่องที่ร่วมส่งเข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์สั้น จัดโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และ มูลนิธิหนังไทย] แล้วพบว่ามันมีหนังจำนวนหนึ่งที่มันจะไม่เข้าไปถึงรอบสุดท้ายของเทศกาลหนังมาราธอนแน่ ๆ เพราะมัน “ไม่คราฟต์” [ไม่ใช่การผลิตระดับอุตสาหกรรม] แต่ก็จะไม่ถูกฉายในแกลเลอรี่ เพราะมันไม่อาร์ต แล้วก็จะไม่ไปสู่เทศกาลหนัง เพราะมันไม่มีพลังมากพอ แต่เราเห็นบางอย่างในตัวมัน เห็นศักยภาพบางอย่างของมัน เป้าหมายของ Wildtype คือความเป็นไปได้ของภาพยนตร์ ว่ามันเป็นอย่างอื่นได้ ไม่ใช่แค่หนังที่อยู่ในแกลเลอรี่ ในโรงหนัง หรือในเทศกาล มันเป็นความบ้าบอ ความกึ่งกลาง ความสมัครเล่น

จริง ๆ มันก็ขัดเขินอยู่เหมือนกันนะถ้าจะเรียกเราว่าเป็นคิวเรเตอร์ เพราะว่าในพื้นที่ที่ทำงานแบบมืออาชีพมาก ๆ เขาก็ทำงานคนละแบบกับเราแน่นอน อาจมีการสนับสนุนผลักดันหนัง คนทำหนัง หรือแนวคิดอะไร หรืออาจจะมีการคิดโปรแกรมสำหรับวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่นการคิวเรตโปรแกรมโดยมีธีมที่กำหนด แต่ของเรามันมีความเป็นคนดูหนังมากกว่า

มันคือการไปดูหนังให้เจอในสิ่งที่คนไม่ค่อยเห็น แล้วก็เลือก มาจัดกลุ่มว่าอะไรควรอยู่ร่วมกัน เพื่อให้หนังมันเสริมกันหรือโต้กัน แล้วคนดูได้เห็นภาพรวม และสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคนดูกับหนังแบบนี้

เพราะฉะนั้นโดยหลักการก็คือว่าคุณต้องชอบดูหนังก่อน แล้วอยากเอาหนังที่ชอบมาฉาย หนังที่มันจะทําโปรแกรมได้ดี มันก็มาจากการคุยกันระหว่างหนังทุกเรื่องในโปรแกรม ไม่ว่าจะโต้แย้งกันหรือว่าเสริมฤทธิ์กัน มันก็ไปได้ดี แต่ว่าโดยหลักการเบื้องต้นเลย ถ้าถามว่าอยากจัดโปรแกรมหนังต้องทําอย่างไร — ก็ไปดูหนังก่อน ไปดูเทศกาลหนังมาราธอน ดูหนังนักศึกษา ฯลฯ แล้วพอมีไอเดียก็ไปรีเสิร์ชเพิ่มเติมต่อ เช่นเรื่องบริบททางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับหนัง

เราจะรู้สึกตะหงิด ๆ นิดนึง กับการอยากจัดโปรแกรมหนังแต่ไม่ค่อยได้ดูหนัง เพราะเรารู้สึกว่าพอคลังการดูหนังมันน้อย คุณก็จะได้หนังที่ซ้ำ ๆ กันกับที่ทุกคนก็พูดถึง เพราะคุณได้ยินมันมาก่อน แต่คุณไม่ได้ประสบการณ์การเดินเข้าไปในในห้องฉายวันนี้ แล้วคุณไปเจอหนังเรื่องนี้ที่แบบ ไม่รู้อะไรอีกต่อไปแล้ว

GroundControl:

ถ้าให้ยกตัวอย่างหนังหรือโปรแกรมฉายหนังที่แสดงให้เห็นถึงสไตล์ของตัวเองคิดว่าจะเลือกงานไหน

ชญานิน:

เรามีโปรแกรมแบบ “ท้าทายศีลธรรม” น่าจะสักสองปีที่แล้ว ที่เราไปเจอหนังสองเรื่องที่มันรู้สึกท้าทายศีลธรรมเหลือเกิน ก็เลือกมาเป็นตัวยืนของโปรแกรม แล้วก็มีหนังที่หลายคนส่งมาในลักษณะเดียวกัน เช่นเรื่องที่เล่า “ความสัมพันธ์” ระหว่างแม่กับลูก เราได้ดูกับพี่ดอง (ศาสวัต บุญศรี : อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่ https://groundcontrolth com/blogs/in-focus-sasawat-boonsri) ซึ่งเป็นทีมเราด้วย ก็รู้สึกว่าหนังแบบนี้มันหายไปนานแล้ว หนังที่มันชวนให้นึกถึงเทศกาลฝรั่งเศสสมัยก่อน กับหนังอีกเรื่องในปีนั้นที่โหดมาก เป็น Toxic Masculinity สุด ๆ หรือหลัง ๆ มาเราก็เจอหนังที่เป็นมุมมองผู้หญิง ก็เอามาชนกันดู คนดูก็กระอักกระอ่วนมาก แต่ก็น่าสนใจ เอามาฉายรวมกันมันก็โหดมาก แต่ก็แสดงให้เห็นอะไรที่น่าสนใจ

GroundControl:

คุณค่าของ “หนังบ้า ๆ บอ ๆ” ที่ไม่ค่อยมีที่ทางคืออะไร ถ้าต้องเขียนขอทุนจะอธิบายคุณค่าของมันกับคนให้ทุนอย่างไร

วิวัฒน์:

เราไม่เคยขอทุนเลยก็เพราะต้องการหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้นี่แหละ ที่เราทำมาตลอด ทุกคนใช้เงินตัวเองในการทำ แทบจะไม่มีเงินทุน เพราะเราต้องการให้มันเป็นพื้นที่เปิดกว้างที่สุดของผู้คน มันก็เลยมีปัญหามากเวลาไม่มีพื้นที่ มันก็เรียกร้องจากเจ้าของสเปซพอสมควร ก็ต้องขอบคุณ The Reading Room กับ Doc Club & Pub ที่ไว้ใจให้ Wildtype ไปฉาย

เราคิดว่าถ้าเกิดต้องขอทุนหรือเขียนโครงการเพื่ออธิบายอะไรอย่างนั้นเราอาจจะไม่ทำ แต่เราทำเพราะมันคือการมาเจอเพื่อนดูหนังแล้วก็ไปกินข้าวกัน เป็นพื้นที่เปิดกว้าง ไม่ถูกครอบงำเลย ตอนที่มันมีอยู่มันก็ผ่านช่วงรัฐประหารมา คือคนมันไม่มีพื้นที่ที่จะพูดเรื่องนี้่ ทำให้เราเริ่มเห็นแนวทางว่าจะเป็นพื้นที่ให้เขาพูด เพราะเราเล็กเกินกว่าจะถูกจับจ้องโดยรัฐ เราอยู่ใต้ดิน แล้วก็ไม่ได้มีอิทธิพลอะไร มันทำให้ทุกคนสามารถพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดได้ มันมีครั้งที่เราฉายโดยไม่บอกชื่อเรื่องด้วย เพราะไม่อยากให้มีปัญหากับเจ้าของหนัง — มันต้องใช้ลูกเล่นมากมายเพื่อให้มันฉายอะไรก็ได้

GroundControl:

ความท้าทายหลักของการฉายหนังนอกกระแสหลักในไทยตอนนี้คือ เรื่องโรงหนังขนาดเล็ก (ไมโครซีนีมา) ที่มีความคลุมเครืออยู่พอสมควรว่ามาตรการต่าง ๆ จะส่งผลอย่างไรในอนาคต ทั้งสองคนมองเรื่องนี้อย่างไร

ชญานิน:

เราคิดว่ามันสามารถออกได้หลายหน้าเหมือนกัน เมื่อมันมีนโยบายสนับสนุนอะไรขึ้นมาตามกระบวนการ เพียงแต่ข้อสังเกตเล็ก ๆ ของเราคือมันจะเป็นการล็อคให้ไปในทางเดียวกันเกินไปหรือเปล่า ในการสนับสนุนนั้นมันจะเอื้อให้คนที่ต้องการทำสิ่งเหล่านี้ได้ทำอะไรง่ายขึ้นหรือเปล่า มันจะเป็นกรอบ ทำให้เกิดการจับตาตรวจสอบากขึ้นกว่าในยุคของเราหรือเปล่า ซึ่งก็อาจจะส่งผลอีกแบบหนึ่งเลยได้เหมือนกัน ก็น่าจะต้องรอดูมันคลี่คลายต่อไป

เช่นพอไมโครซีนีมา (โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก) เข้าระบบ ทุกสิ่งที่จะไปฉายในนั้นก็ต้องไปผ่านกระบวนการตามระบบหรือเปล่า เช่นการส่งเซนเซอร์ มันจะเคร่งครัดขึ้นหรือเปล่า — ก็อาจจะทำให้ภูมิทัศน์หนังไทยเปลี่ยนไปเหมือนกัน แต่ถ้าอย่างนั้นสปิริตอันเดอร์กราวด์มันก็จะผุดขึ้นมาอีกอยู่ดีหรือเปล่า การรับรองผ่านระบบเป็นทางการมันอาจจะเป็นอุปสรรคหรือการสนับสนุนก็ได้

วิวัฒน์:

เราคิดว่าตอนนี้สังคมมันเปิดประมาณหนึ่งแล้ว หมายความว่าสุดท้ายแล้วภายในไม่กี่ปี มันอาจจะมีกฎหมายที่ชัดเจนกว่านี้ แล้วทําให้คนกล้าทําโรงหนังเล็ก ๆ ขึ้นมาจริง ๆ ไมโครซีนีมาเกิดขึ้นมาจริง ๆ ซึ่งพอถึงจุดนั้น เราจะอาจจะต้องขุดหลุมลึกลงไปอีก เราคิดว่ามันจะดีต่ออุตสาหกรรมและไม่ได้คัดค้านกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่อาจจะไม่ได้ไปทางนั้น เพราะเราไม่ได้ตั้งเป้าจะจัดตั้งขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน เราอยากให้มันเป็นความเป็นไปได้ ซึ่งพอถึงตอนนั้น การฉายหนังก็อาจไม่ได้เป็นแบบนี้แล้วก็ได้ ตอนช่วงโควิดเราก็เคยทดลองฉายออนไลน์มาแล้ว

ชญานิน:

สิ่งที่เราหวังไกล ๆ ก็คือสิ่งที่มันเคยอยู่แค่ในเทศกาลเล็ก ๆ เทศกาลใต้ดิน ที่ต้องมาอยู่กับ Wildtype เท่านั้น หรือลงยูทูบกันตามมีตามเกิด มันจะสามารถขึ้นมาอยู่ในโรงหนังไมโครซินีมาได้ด้วยตัวเอง แล้วพอถึงตอนนั้น สิ่งที่มันอันเดอร์กราวด์ ก็อาจจะอันเดอร์กราวด์มากขึ้น ต้องสืบเสาะมากขึ้น ซึ่งก็ดูเป็นเรื่องที่ดี